วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คนไทยมาจากไหน?

 ความจริงข้อหนึ่งที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ทุกคนรู้ดีก็คือว่าเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือประวัติศาสตร์ที่ไม่ไกลตัวจนเกินไปนักย่อมอยู่ในความทรงจำหรือทำการศึกษาได้ง่ายกว่าเรื่องราวที่ไกลตัวออกไป ยิ่งเป็นเรื่องที่ไกลขนาดร้อย ๆ พัน ๆ ปีขึ้นไปด้วยแล้วยิ่งลำบาก สาเหตุก็เพราะจำกัดในหลักฐานสำหรับค้นคว้ายืนยันความจริงนั่นเอง

ปัจจุบันถ้ามีคนถามเราว่า “คนไทยมาจากไหน” เราคงจะตอบไม่ได้ง่าย ๆ เมื่อก่อนถ้ามีผู้มาถามเราเช่นนี้ เราก็คงตอบไปว่า “มาจากภูเขาอัลไต” หรือ "มาจากมณฑลเสฉวน บริเวณตรงกลางของประเทศจีน” แต่ปัจจุบัน การศึกษาคนคว้าในเรื่องนี้มีมากขึ้น ทำให้ข้อสันนิษฐานที่แตกต่างไปจากเดิมมีมากขึ้นด้วย

ขณะนี้ไม่มีนักประติศาสตร์ท่านใดสามารถสรุปได้ว่าชนชาติไทยมาจากไหนกันแน่ แต่เท่าที่ค้นคว้ากันมา มีความเชื่อต่าง ๆ กันดังนี้

๑. เดิมคนไทยอยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน ตรงลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในตอนกลางของประเทศจีนปัจจุบัน แล้วค่อยอพยพมาทางตอนใต้ของจีน จากนั้นก็ลงมาสู่แหลมอินโดจีน ผู้เสนอความคิดนี้เป็นคนแรกก็คือ Terrien de la Couperie เขาเสนอผลงานเรื่อง The Cradle of the Shan Race (2428) คนไทยที่เชื่อตามทฤษฎีนี้มีหลายคน เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลวงวิจิตรวาทการ และรอง ศยามานนท์ เป็นต้น

๒. เดิมคนไทยอยู่ในบริเวณเทือกเขาอัลไต หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันเป็นผู้เสนอความคิดนี้ เขาคือ William Clifton Dodd งานเขียนเรื่อง The Tai Race : The Eider Brother of the Chinese (2452) เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวาง และมีอิทธิพลต่องานของ W.A.R. Wood ในเรื่อง A History of Siam และขุนวิจิตรมาตรา ในเรื่อง “หลักไทย”

๓. เดิมคนไทยอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในบริเวณทางตอนใต้ของจีนและทางตอนเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนบริเวณแคว้นอัสสัมในอินเดีย ผู้ที่เสนอความคิดนี้ก็คือ ArchibaI R. Colguhoun เขาเป็นชาวอังกฤษ เดินทางสำรวจดินแดนตั้งแต่ทางภาคใต้ของจีนจากกวางตุ้งเข้าไปในพม่า จากนั้นเขาก็เขียนหนังสือเรื่อง Chryse (2428) ต่อมาความคิดนี้ได้รับความสนใจนำไปค้นคว้าต่อ คนสำคัญที่นำความคิดนี้ไปขยายต่อก็มีเช่น E.H. Parker เขาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องน่านเจ้าพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ผู้เขียนพงศาวดารโยนกก็เชื่อว่า คนไทยมาจากทางตอนใต้ของจีน นอกจากนี้ยังมีคนอื่น ๆ เช่น G. Coedes W. Credner W. Eberhard F. Mote ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ขจร สุขพานิช และจิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ เมื่อไม่นานมานี้ก็มีคนทำวิทยานิพนธ์ปริณญาเอกทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการอพยพของชนชาติไทย เขาคือ H.W. Woodward นักประวัติศาสตร์ผู้นี้เชื่อว่าแนวทางอพยพของคนไทยอาจมาทางลาวและลุ่มแม่น้ำป่าสักลงสู่ภาคกลางของประเทศไทย

๔. คนไทยไม่ได้มาจากไหน แต่ถิ่นเดิมของคนไทยก็คือบริเวณพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบัน นักวิชาการที่เสนอความคิดนี้ก็คือ PauI Benedict นักภาษาศาสตร์และมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน เขาค้นคว้าเรื่องชนชาติไทยโดยใช้หลักฐานด้านภาษาศาสตร์ จากการค้นคว้าทำให้เขาเชื่อว่าภาษาไทยเป็นภาษาใหญ่ของชนชาติเอเชีย อยู่ในตระกูลออสตริก หรือออสโตรนีเซียน แยกสาขาเป็นพวกไทย ชวา-มลายู และทิเบต-พม่า ดังนั้นเผ่าพันธุ์ของคนไทยจึงไม่น่าจะเป็นพวกมองโกล แต่น่าจะเป็นพวกชวา-มลายู ประมาณ ๔,๐๐๐-๓,๕๐๐ ปี การรุกรานของพวกมอญ เขมร จากอินเดีย เข้ามาในแหลมอินโดจีน น่าจะเป็นเหตุทำให้คนไทยขึ้นไปทางใต้ของจีน แต่เมื่อถูกจีนรุกรานก็ต้องถอยร่นไปในเขตแคว้นอัสสัม ฉาน ลาว ไทย และบริเวณตังเกี๋ยหรือบริเวณเวียดนามเหนือปัจจุบัน นักวิชาการที่สนับสนุนความคิดนี้ก็มี นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ผู้ค้นคว้าโดยอาศัยหลักฐานจากการเปรียบเทียบโครงกระดูกมนุษย์สมัยหินที่ขุดค้นพบในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี

๕. เดิมคนไทยอยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเชียก่อน แล้วต่อมาก็อพยพเข้าสู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน ความคิดนี้ค่อนข้างใหม่มาก ผู้เสนอคือ สมศักดิ์ สุวรรณสมบูรณ์ เขาใช้หลักฐานทางด้านการแพทย์ คือการสุ่มตัวอย่างกลุ่มเลือดของคนไทยกับอินโดจีนปัจจุบัน ปรากฏว่ามีความคล้ายคลึงกัน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดก็แสดงให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องความเป็นมาของคนไทยก่อนสมัยประวัติศาสตร์ยังไม่ยุติ แต่เท่าที่เราสามารถยึดถือได้ชั่วคราวก็คือความเชื่อของนักวิชาการที่ได้รับความนิยมในข้อ ๒ และ ๓ นั่นคือคนไทยอพยพจากถิ่นอื่นเข้ามาในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแนวการอพยพเป็นแนวเหนือลงมาทางใต้ กระจัดกระจายตามบริเวณที่ใกล้เคียงกันทางตอนใต้ของจีน เช่น ตามบริเวณมณฑลเสฉวน ยูนนาน แคว้นอัสสัม ฉาน ตอนเหนือของเวียดนาม ลาว และกัมพูชา เป็นต้นส่วนความเชื่อในข้อ ๔ และ ๕ นับว่าค่อนข้างใหม่ ยังไม่เป็นที่ยอมรับหรือมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อความเข้าใจของคนไทยในด้านความเป็นมาของตนเอง อย่างไรก็ดี สำหรับความเชื่อในข้อ ๔ กำลังเป็นที่ยอมรับและเป็นที่สนใจมากขึ้นในปัจจุบัน

ข้อมูลนี้รวบรวมโดย พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล จากหนังสือ “เอกสารประกอบการให้ความรู้ทางวัฒนธรรมไทยแก่ผู้เดินทางไปต่างประเทศ” ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์ คือ อะไร


ความเข้าใจเรื่องนิยามประวัติศาสตร์ มักจะให้ความสำคัญผิดที่ผิดทาง จนทำให้วิธีคิดเรื่องประวัติศาสตร์แตกต่างจากมันควรจะเป็น
เพราะเวลาคนพูดถึงประวัติศาสตร์ มักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของอดีต ซึ่งแม้ว่าจะไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกนัก
นิยามที่ผมชอบยกมากพูดมากที่สุด คือ นิยามของคนเมื่อประมาณ 2000 พันกว่าปีที่แล้วอย่าง Cicero (106 BC – 43 BC) ที่กล่าวไว้ว่า
History is the witness that testifies to the passing of time; it illumines reality, vitalizes memory, provides guidance in daily life and brings us tidings of antiquity.
ประวัติศาสตร์ คือ พยานที่ให้การสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ที่มันพยายามวาดภาพความจริง สร้างภาพความทรงจำ…
และนี่คือ ประเด็นที่สำคัญว่า ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่เรื่องของอดีต แต่มันคือ การวาดภาพความจริง หรือสร้างภาพในความทรงจำของมนุษย์ ซึ่งคนวาดจะวาดเหมือน หรือ ไม่เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ วิธีการศึกษามันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า



หากคุณเข้าใจว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของอดีตแล้ว วิธีคิดเรื่องประวัติศาสตร์ก็จะเป็นเรื่องที่ตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะอดีต โดยตัวมันเองนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้
แต่ว่า คุณเข้าใจความหมายของคำว่า “ประวัติศาสตร์” ที่ให้ความสนใจกับคำว่า “การวาดภาพอดีต” นั้น คุณก็จะเข้าใจได้ว่า การวาดภาพอดีตนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเพียงภาพเดียวเท่านั้น และแน่นอนว่า การวาดภาพที่ผ่านมา ไม่จำเป็นว่าจะต้องถูกต้องเสมอไป ซึ่งอาจแปลได้ว่า “ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีเพียงภาพเดียว และอาจเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ”
การวาดภาพประวัติศาสตร์ จึงมีเงื่อนไขต่างๆ มากมายที่จะบอกได้ว่า “ภาพวาดทางประวัติศาสตร์” จริง / ไม่จริง, สมเหตุสมผล / เลื่อนลอย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนใจเรื่อง “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” ที่ผู้วาดภาพประวัติศาสตร์นั้นใช้ เพราะเราไม่อาจทราบได้เลยว่า ผู้วาดภาพประวัติศาสตร์นั้นมีเหตุผลหรือแรงจูงใจในการสรรค์สร้าง “ประวัติศาสตร์” อย่างไร
การเรียนประวัติศาสตร์ที่ดีจึงไม่ควรเรียนประวัติศาสตร์ด้วยการชื่นชมฝีไม้ลายมือของคนวาดและผลงานเพียงอย่างเดียว แต่หากเป็นการพยายามตั้งคำถามที่ว่า คนวาดภาพประวัติศาสตร์วาดอย่างไร เหมือน – ไม่เหมือน, มีอคติ – ไม่มีอคติ, มีเจตนาแฝง-บันทึกตามหลักที่ควรจะเป็นหรือไม่ หรือใช้หลักฐานประเภทได้ มีความรอบด้าน มีเหตุมีผลผ่านกระบวนการทางประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ ความหมายของคำว่าประวัติศาสตร์ ในทั่วไป ยังมีการให้ความสำคัญกับเรื่อง ขนาด หรือ จำนวน ด้วย กล่าวคือ เรื่องราวประวัติศาสตร์ มักจะสนใจสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์จำนวนมากในสังคม ที่มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ เช่น สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม รวมถึงคุณค่าต่างๆ

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระพุทธรูปสลักเล่อซัน

พระพุทธรูปสลักเล่อซัน ประติมากรรมระดับโลก
พระพุทธรูปสลักเล่อซัน ตั้งอยู่บริเวณที่มีแม่น้ำไหลผ่านสามสาย คือ ต้าตู้เหอ ชิงอีเจียง และหมินเจียง ในเขตเมืองเล่อซัน อาณาบริเวณโดยรอบยังประกอบด้วย เขาหลิงหยุน สุสานในถ้ำริมผาม๋าเฮ่า เขาอูโหยว และบริเวณเขาอูโหยวที่เชื่อมต่อกับเขาหลิงหยุนซันและเขากุยเฉิงซัน ยังประกอบขึ้นเป็นทิวทัศน์อันน่าพิศวงรูปพระนอนขนาดใหญ่ซึ่งมีความยาวราว 1,300 เมตร รวมพื้นที่ราว 8 ตร.กม. ซึ่งทั้งหมดรวมอยู่ในเขตทิวทัศน์ของเทือกเขาเอ๋อเหมยซัน

พระพุทธรูปสลักริมหน้าผาเล่อซัน สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิถังเสวียนจง แห่งราชวงศ์ถัง ต้นรัชสมัยไคหยวน ปี ค.ศ.713 โดยการเจาะสกัดหินบนเขาเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท หลังพิงเขา หันหน้าสู่แม่น้ำหมินเจียง มีความสูง 71 เมตร กว้าง 10 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าพระพุทธรูปหินสลักที่ถ้ำผาหยุนกัง(ต้าถง)ในมณฑลซันซี(มรดกโลกทางวัฒนธรรม ปี 2001)ถึง 3 เท่า พระพุทธรูปเล่อซันสร้างขึ้นโดยจำลองแบบมาจากพระอาจารย์ไห่ทง แห่งวัดหลิงหยุน ใช้เวลาก่อสร้างนาน 90 ปี จนมาสำเร็จในปี ค.ศ.803 ในสมัยจักรพรรดิถังเต๋อจง แกะสลักขึ้นด้วยฝีมือช่างงามวิจิตร ลายเส้นที่พลิ้วไหวและสัดส่วนขององค์พระที่ได้สมดุล เต็มไปด้วยพลังที่แผ่ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล ล้วนสะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมอันเฟื่องฟูในยุคราชวงศ์ถัง

สิ่งหนึ่งที่สามารถอนุรักษ์องค์พระเล่อซันให้คงความสง่างามมาจนถึงวันนี้ได้ คือ การเจาะทางระบายน้ำไหลด้านหลังกรรณทั้งสองและเศียรองค์พระ เพื่อกันการกัดเซาะของน้ำฝนไม่ให้ไหลบนตัวองค์พระและทำลายทัศนียภาพขององค์พระพุทธรูป ทำให้องค์พระไม่สึกกร่อนเสียหายมาก สามารถคงรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับเมื่อพันกว่าปีก่อน

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หลักฐานทางประวัติศาสตร์คืออะไร แบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง

หลักฐานทางประวัติศาสตร์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ ร่องรอยการกระทำของมนุษย์ในอดีต ที่ใช้เครื่องมือสำคัญในการสืบค้นแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาการจำแนกหลักฐานทางประวัติศาสตร์มี 2 ประเภท คือ
1. ประเภทหลักฐานที่แบ่งตามลักษณะยุคสมัย
2. ประเภทหลักฐานที่แบ่งตามลักษณะการบันทึก
หลักฐานที่แบ่งตามลักษณะยุคสมัยแบ่งออกเป็น 2 ยุคคือ
1. หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นหลักฐานที่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ถือเอาหลักฐานทางโบราณคดีเป็นหลักฐานที่สำคัญ เช่นซากโครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ รูปภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ สถานที่ฝังศพ เป็นต้น
2. หลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ เป็นหลักฐานที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์อักษรและบันทึกบนวัสดุต่าง ๆ เช่นหนังสัตว์ ศิลา ( หิน ) เป็นต้น จึงมีหลักฐานประเภทที่มีลายลักษณ์อักษรขึ้น ได้แก่ศิลาจารึก ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ บันทึกและประกาศทางราชการ
หลักฐานที่แบ่งตามลักษณะการบันทึก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่
จารึก
ตำนาน
พระราชพงศาวดาร
จดหมายเหตุ
เอกสารการปกครอง
งามเขียนทางประวัติศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์นิพนธ์
2. หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่
2.1โบราณสถาน โบราณวัตถุ
2.2เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ เครื่องปั้นดินเผา
2.3วัด เจดีย์ อนุสาวรีย์